เส้นทางศรีเทพสู่มรดกโลก
มรดกแห่งศรีเทพ มรดกระดับชาติ สู่เส้นทางการเป็นมรดกโลก
แหล่งมรดกโลกเป็นสถานที่สำคัญหรือพื้นที่ที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายโดยอนุสัญญาระหว่างประเทศที่บริหารงานโดยองค์กร UNESCO แหล่งมรดกที่ประกาศและขึ้นทะเบียนมรดกโลก (World Heritage List) โดย UNESCO นับว่ามีคุณค่าในระดับชาติ และมีคุณค่าแก่มวลมนุษยชาติ
มรดกแห่งศรีเทพได้ถูกเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ในปีพุทธศักราช 2562 และถูกนำเข้าพิจารณาเพื่อขึ้นสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์
ข้อ (ii) แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือใน พื้นที่ในวัฒนธรรมใด ๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์ การวาง แผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์ และ
ข้อ (iii) ในฐานะประจักษ์พยานอันโดดเด่นยิ่ง ของประเพณีวัฒนธรรม หรือ วัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว
เมืองโบราณศรีเทพกำลังรอการพิจารณาจากคณะกรรมการมรดโลก
และรอผลการประกาศในเดือน กันยายน 2566 นี้
อ้างอิง:
UNESCO World Heritage Centre. (n.d.). The criteria for selection. UNESCO World Heritage Centre.
https://whc.unesco.org/en/criteria/
ICOMOS Thailand
แหล่งตั้งถิ่นฐานโบราณ สู่เมืองอันรุ่งโรจน์แห่งวัฒนธรรมทวารวดี
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์กว่า 2,000 ปีและมีความสำคัญมากที่สุดเมืองหนึ่งในวัฒนธรรมทวารวดี มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมแรกสุดของการพัฒนาชุมชนจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์สู่ชุมชนเมืองที่มีวิทยาการ
เมืองคูน้ำคันดินที่มีความสมบูรณ์ของผังเมืองอันมีเอกลักษณ์ คือ การเป็นเมืองแฝดหรือเมืองขยายที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดและมีความแตกต่างไปจากผังเมืองสมัยทวารวดีทั่วไป ผังเมืองเดิมมีลักษณะเป็นรูปเกือบเป็นวงกลมเรียกว่า เมืองใน ต่อมาได้ขยายออกมาอีกชั้นหนึ่งเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน เรียกว่าเมืองนอก ทั่วบริเวณมีหลักฐานประจักษ์พยานถึงการแลกเปลี่ยนและความรุ่มรวยทางวิถีวัฒนธรรมดังปรากฏในรูปเคารพ พระพุทธรูป พระนารายณ์ จารึกโบราณ และศาสนสถาน ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่
ถึงแม้ว่าภายหลังวัฒนธรรมแห่งศรีเทพอาจจะไม่ปรากฏหรือเป็นที่รู้จักภายใต้นามแห่งมหานคร
โบราณแห่งนี้ อันเนื่องจากการลดความสำคัญลงไปของเมือง เมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 18
แต่หลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบในที่ต่าง ๆ อีกมากนั้น ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม
ที่พบเห็นได้จากศรีเทพ ผ่านหลักฐานทางกาลเวลา
อ้างอิง: สมาคมอิโคโมสไทย, กรมศิลปากร, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2563). (rep.). เอกสารนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก. กรุงเทพฯ.
ศรีเทพ ทวารวดี: ราชธานีแห่งแรกของสยาม. (2565). มูลนิธิพิริยะไกรฤกษ์ . กรุงเทพฯ.
ชุมชนก่อนเมืองศรีเทพ. (2534). อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, กรมศิลปากร. กรุงเทพฯ.